Ikigai ปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ปรับใช้กับการทำงานได้

22/01/24   |   7.6k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

การทำงาน คือส่วนสำคัญที่กินระยะเวลา 1 ใน 3 ส่วนของชีวิตพวกเราทุกคน เมื่อคำนวณจากค่าเฉลี่ยการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตในส่วนนี้ให้มีความสุขได้ เวลากว่า 1 ใน 3 ก็จะหมดไปอย่างเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดซะทีเดียวที่จะรู้สึกอย่างนั้น เพราะการหาตัวตนไม่เจอ หรือยังไม่รู้ว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร ล้วนเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเคยพบเจออยู่แล้ว หลักปรัชญา Ikigai แนวคิดจากญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีมานี้ จึงเป็นอีกแนวคิดที่ตอบโจทย์วัยทำงานที่กำลังหมด Passion ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวไปพร้อม ๆ กับชีวิตการทำงานได้จริง 

 

Ikigai (อิคิไก) คืออะไร

Ikigai (อิคิไก) คืออะไร

Ikigai คือ ความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรือการที่เราตระหนักรู้ในตนเองว่าต้องการอะไรในชีวิต ซึ่งเกิดจากการนำ 2 คำในภาษาญี่ปุ่นมารวมกัน คือ อิคิ (Iki) ที่แปลว่าชีวิต และ ไก (Gai) ที่หมายถึงคุณค่า หรือความหมายของบางสิ่งบางอย่าง 

 

ทำไม Ikigai ถึงสำคัญกับการดำเนินชีวิต

การเข้าใจถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทำให้เรารู้ว่าจะตื่นขึ้นมาทำอะไรในทุก ๆ เช้า โดยไม่ไร้จุดหมาย อาจจะฟังดูเป็นเรื่องนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก แต่หากยกตัวอย่างเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่น วันหยุดสุดสัปดาห์นี้มีการวางแผนไปเที่ยวทะเลเอาไว้ พอถึงวันหยุดก็ได้ไป ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่อยากทำในชีวิตได้อย่างมีความหมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายที่ใหญ่เท่านั้นที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะการทำสิ่งเล็ก ๆ ให้สำเร็จอยู่เป็นนิจ จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกของการบรรลุเป้าหมายในทุก ๆ วัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่หลัก Ikigai พยายามจะบอกกับทุกคน

 

4 หลัก Ikigai ที่ปรับใช้กับชีวิตการทำงานได้

หลักการ Ikigai ไม่เพียงแต่ช่วยในการดำเนินชีวิตเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 หลัก ดังนี้ 

 

1. อะไรคือสิ่งที่รัก (What you love)

สิ่งแรกที่เราต้องถามตัวเอง คือ อะไรเป็นสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชื่นชอบ หลงใหล เมื่อมีเวลาว่างก็มักจะอยากทำสิ่งนี้อยู่ตลอด หรืออาจจะเป็นงานอดิเรกก็ได้ เช่น ทำอาหาร วาดรูป เล่นกีต้าร์ ดูหนัง ฟังเพลง อะไรก็ตามที่รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ 

 

2. อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี (What you are good at)

สิ่งที่สองที่เราต้องรู้ ก็คือ อะไรที่เราสามารถทำได้ดี โดยเป็นได้ทั้งทักษะเฉพาะด้านอย่างการทำอาหาร เล่นดนตรี ร้องเพลง หรืออาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น มีความคิดสร้างสรรค์ เข้าสังคมเก่ง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นที่เรารู้สึกทำได้ดีโดยไม่ฝืนความรู้สึก แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่เรารักเสมอไป 

 

3. อะไรคือสิ่งที่ก่อให้เกิดผลตอบแทน (What you can be paid for)

สิ่งที่สามเป็นเรื่องของผลตอบแทน โดยดูจากอดีตที่ผ่านมาจนถึงงานที่ทำในปัจจุบัน อะไรเป็นสิ่งที่เราทำเป็นอาชีพหรือได้ค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรืองานอดิเรกทั้งหมดที่เคยก่อเกิดรายได้ให้กับเรา 

 

4. อะไรคือสิ่งที่สังคมต้องการ (What the world needs)

สิ่งสุดท้ายเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ อะไรบ้างที่เราสามารถทำเพื่อสังคมส่วนรวมได้ทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสา การช่วยเหลือผู้ยากไร้ การให้ทุนการศึกษาผู้ขาดโอกาส หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากการทำงาน หรือสิ่งที่เลือกช่วยเหลือเองส่วนตัวได้เช่นกัน 

 

3 ขั้นตอนในการหา Ikigai ของตัวเองให้เจอ

3 ขั้นตอนในการหา Ikigai ของตัวเองให้เจอ

แม้จะเข้าใจถึง 4 หลัก Ikigai ว่ามีอะไรไปแล้วบ้าง แต่การจะหาสมดุลในชีวิตให้เจอจากการเข้าใจแนวความคิดเรื่องนี้ก็ยังไม่ง่ายนัก ใครที่กำลังอยากลองหาหลัก Ikigai ของตัวเองให้เจอ ลองทำตาม 3 ขั้นตอนนี้ที่จะทำให้เราทุกคนเข้าใจตัวเองกันมากขึ้น

 

1. ตอบคำถามตัวเองผ่าน 4 หลักการ Ikigai

เริ่มแรกให้ทำการตอบคำถามตัวเองตามหลักการทั้ง 4 แบบ เพื่อที่ตัวเราเองจะได้เห็นภาพชัดขึ้น ว่าตัวตนเราเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้างที่เราถนัดหรือทำได้ดี ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่เคยได้นั่งถามตัวเราเอง 

  • สิ่งที่รัก: อะไรบ้างที่เราทำแล้วรู้สึกมีความสุขทุกครั้ง และยังรู้สึกว่ามีเวลาที่จะทำมันได้ไม่มากพอ ให้ลองนึกถึงเรื่องงานเป็นสิ่งแรก งานที่ทำอยู่นั้นมีความรู้สึกสนุกและอยากตื่นไปทำมันทุกวันหรือเปล่า มีความรู้สึกว่าอยากไปทำงานมากกว่าอยู่บ้านใช่ไหม หรือหากเป็นงานอดิเรก ก็ให้ลองถามตัวเองเหมือนกันว่าอยากจะทำมันอยู่ทุกวันโดยไม่รู้สึกเบื่อไหม ถ้าหากว่าคำตอบคือใช่ ก็แสดงว่านั่นเป็นสิ่งที่เรารักจะทำโดยไม่ฝืน 

  • สิ่งที่ทำได้ดี: ให้ลองสังเกตตัวเราเองว่าถนัดอะไร โดยดูได้ง่าย ๆ จากการทำงานของเราก็ได้ เช่น คนอื่นมาขอคำปรึกษาเราในเรื่องอะไรมากที่สุด หรืองานอะไรที่เราทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าใคร ๆ  แล้วค่อยไล่ดูไปยังเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ว่าเรามีคนมาขอให้ช่วยเหลือเรื่องไหนบ่อย หรือเวลามีปัญหาบางอย่าง ก็มักจะปรึกษาเราก่อนเสมอ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เราถนัดโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อนก็ได้ 

  • สิ่งที่ก่อเกิดผลตอบแทน: เป็นการพิจารณาเรื่องรายได้ที่ผ่านมาจากการทำงาน ให้ดูว่าที่ผ่านมาเรามีรายได้ในเกณฑ์ที่เราพอใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรืองานอดิเรกที่สร้างรายได้ให้กับเราได้ และสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เรามีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวได้โดยไม่ลำบากหรือเปล่า  

  • สิ่งที่สังคมต้องการ: เป็นการถอยออกมามองภาพรวมให้มากขึ้น ว่างานที่เราทำนั้นมีส่วนช่วยอะไรกับสังคมบ้าง งานเรามีคุณค่าต่อสังคม เศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติในระดับไหน อีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่เราทำยังคงมีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการอยู่หรือเปล่า 

 

2. สังเกตตัวเองผ่านแง่มุมการใช้ชีวิตประจำวัน

เมื่อเราตอบคำถามตัวเองทั้งหมดและได้เห็นภาพมากขึ้นแล้ว ให้เราลองสังเกตนิสัย และความชอบของตัวเองอีกครั้งจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพื่อดูว่ามีอะไรบ้างที่เรายังรู้สึกอึดอัดกับการทำมันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เรามีความคิดสร้างสรรค์ และรู้สึกสนุกทั้งครั้งที่ได้คิดงาน แต่กลับรู้สึกไม่ค่อยถนัดกับการเข้าไปประชุมเพื่อนำเสนองาน สิ่งนี้สามารถเป็นตัวอย่างได้ดี ว่าเราอาจจะกำลังทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัดอยู่หรือเปล่า หรือถ้าหากเป็นงานที่ถนัดแล้ว แต่รู้สึกว่ามีบางอย่างในเนื้องานที่กำลังฝืนเกินไป ให้ลองทำตามในขั้นตอนถัดไป 

 

3. เรียนรู้ที่จะลงมือทำเพื่อตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป

ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ อะไรที่เรายังรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะทำมันต่อไปเรื่อย ๆ ได้ไหม ให้เราหาคอร์สเรียนโดยตรงไปเลย เพื่อที่จะเข้าใจถึงสิ่งนั้นได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเรารู้สึกไม่ชอบการนำเสนองานในที่ประชุม เราลองหาคอร์สเรียนโดยตรงในเรื่องของการสื่อสาร หรือนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ถ้าเราลองเรียนดูแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าฝืนตัวเองอยู่ ก็อาจจะต้องเลี่ยงไม่ไปทำในตำแหน่งที่ต้องมีการนำเสนองาน หรือเข้าประชุมอยู่เป็นประจำ 

 

หลัก Ikigai ปรับใช้กับการทำงานได้อย่างไร

Ikigai เป็นหลักการหาสมดุลของชีวิต ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการหาสมดุลชีวิตของการทำงานให้เจอ การที่เรารู้ว่าตัวเองเองรักที่จะทำอะไร มีอะไรบ้างที่ทำได้ดีโดยไม่ฝืนตัวเองมากนัก หรืองานที่ทำอยู่นั้นมีรายได้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตเพียงพอหรือยัง และเป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคมหรือเปล่า จะช่วยให้เราหาจุดที่จะทำให้เราการทำงานได้อย่างมีความสุขในระยะยาว 

 

การได้ทำงานที่ตัวเองรัก อาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำได้เนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในคนที่ไม่มีงานในฝัน ไม่รู้ว่าความต้องการในชีวิตคืออะไร หลัก Ikigai จึงเป็นอีกหนึ่งปรัชญาที่ดีจากญี่ปุ่น ที่จะช่วยให้คนวัยทำงานทุกคนสามารถตอบตัวเองได้ ว่าความต้องการในชีวิตจริง ๆ มีอะไรบ้าง และจุดไหนที่ทำให้ใช้ชีวิตส่วนตัวร่วมกับการทำงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งหลัก Ikigai ก็สามารถช่วยในการหางานที่ตรงใจได้เช่นกันกัน ใครที่กำลังมองหางานที่ตรงความต้องการอยู่ สมัครเลยที่ JobThai

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 22 มกราคม 2024 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ikigai, การทำงาน, คนทำงาน, หลักในการทำงาน, lifestyle, แนวคิดในการดำเนินชีวิต, หลักในการดำเนินชีวิต



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม